วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557

เรื่องของรถยก


                ถึงแม้ว่าในขณะนี้เมืองไทยเรามีการพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมก้าวหน้าไปกว่าแต่ก่อนอย่างมาก  แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เรายังมองข้าม  คือความสนใจในการพัฒนานำเครื่องทุ่นแรง
 (
Material Handling)   มาใช้ประโยชน์ยังมีอยู่น้อย
                ความจริงแล้วหากมีการนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับงานจะทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างมาก  สามารถประหยัดเนื้อที่โกดังเก็บสินค้าและวัตถุดิบเป็นการพยายามใช้ประโยชน์ตามแนวตั้งให้มากขึ้น  ประหยัดค่าใช้จ่ายและแรงงานได้  รถยกนับได้ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องทุ่นแรงที่ใช้ประโยชน์กันได้แทบทุกโรงงาน  ซึ่งความจริงแล้วมีให้เลือกใช้งานหลายรูปแบบหากจะแบ่งเป็นชนิดใหญ่ๆ  ก็แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
                1.  รถยกระดับต่ำ (Low Lift Trucks) รถยกแบบนี้เป็นเครื่องทุ่นแรงที่ใช้ในการเคลื่อนที่ของหนักๆไปตามพื้นราบ  จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ระยะยกจะเตี้ยเพียง 4 นิ้ว ถึง 6 นิ้ว โดยมีจุดประสงค์เพียงให้ของที่จะยกอยู่พ้นจากพื้นในขณะที่เราลากเคลื่อนที่เท่านั้น  ตัวอย่างการใช้งาน  เช่น ขยับเครื่องจักรให้พ้นจากพื้น เพื่อหนุนหมอนรอง, การใช้เคลื่อนย้ายแม่พิมพ์เหล็กที่มีน้ำหนักมากๆจากโกดังมายังจุดที่ใช้งาน,  หรือการเคลื่อนย้ายสินค้าที่วางบนแท่นไม้ (Pallet)
รถยกระดับต่ำ  แบบที่นิยมใช้กันมากเรียกว่า 
Pallet Truck  ซึ่งมีลักษณะเป็น 2 งายกมีล้อเล็กๆ อยู่ที่ส่วนปลายของงายกซึ่งสามารถยกให้สูงขึ้นจากพื้นเล็กน้อย เมื่อต้องการยกของแล้วลากไปหรือหดให้ต่ำลงในขณะที่ต้องการจะช้อนของขึ้น  โดยอาศัยระบบไฮดรอลิกในการผ่อนกำลังขณะยก  ล้อหลังเป็นล้อคู่ใหญ่  ซึ่งบังคับเลี้ยวได้ด้วย  มีคั้นโยกเพื่อบังคับปั้มไฮครอลิกให้ยกของขึ้น-ลง  และใช้ลากจูงพร้อมทั้งบังคับเลี้ยวไปได้ในตัว
                รถ Pallet Truck  นี้นับได้ว่าเป็นรถยกที่มีราคาถูกที่สุด  จึงมีผู้นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเกือบทุกโรงงาน  อย่างไรก็ตามผู้ผลิตรถ Pallet Truck  ก็ได้พยายามคิดค้นปรับปรุงคุณภาพของรถยกให้เหมาะสมกับการใช้งานลักษณะต่างๆ  เช่น มีการพัฒนาล้อหน้าที่เป็นงายก  ซึ่งปกติเป็นล้อเดี่ยว  อาจมีปัญหาในการใช้งานตามพื้นที่ที่ขรุขระหรือการลากขึ้นเนินมีการดัดแปลงเป็นล้อคู่  ทำให้ลากผ่านพื้นที่ขรุขระได้อย่างสะดวก  อีกทั้งเป็นการเฉลี่ยน้ำหนักที่ถ่ายลงพื้นอีกด้วย  เพราะมีจุดถ่ายน้ำหนักเพิ่มเป็น 6 จุด
                นอกจากนี้แล้ววัสดุที่ใช้ทำล้อยังมีหลายชนิด  เช่น  เป็นล้อไนล่อน (Nylon)   เหมาะกับพื้นที่แข็งและเรียบ  เพราะล้อไนล่อนจะสึกหรอได้ยากแต่ลื่นทำให้เบาแรงแต่ถ้าจะลากบนพื้นที่อ่อน  เช่น  พื้นไม้หรือต้องการไม่ให้เกิดเสียงดังในขณะลากผ่านก็จะใช้ล้อโพลียูรีเทน (Polyurethane)  แต่ถ้าลากผ่านพื้นที่เป็นกรวดหรือขรุขระมากๆอาจจะทำลายล้อได้ง่าย  ก็จะใช้ล้อเหล็กแทน
                เนื่องจากสภาพในโรงงานต่างๆไม่เหมือนกัน  บางโรงงานจะมีสภาพที่เปียกน้ำอยู่เสมอ  บางโรงงานจะต้องอยู่ในบรรยากาศที่ร้อนหรือเย็นจัด  หรืออยู่ในสภาพที่มีการกัดกร่อนมากกกว่าปกติ  ดังนั้นการเลือกใช้รถยก Pallet Truck  จำเป็นต้องเลือกชนิดที่ผู้ผลิตได้สร้างขึ้นเป็นพิเศษ  เช่นแกนล้อเป็นสเตนเลส  งายกทำด้วยเหล็กชุบสังกะสี  นอกจากนี้แล้วเพื่อเหมาะกับการวางของหลายๆชิ้น  ก็มีการสร้างรถยกที่เป็นพื้นเรียบใหญ่แทน   ที่จะเป็นขา 2 ขาให้เลือกใช้อีกด้วย  เป็นต้น
                เพื่อจะเป็นการผ่อนแรงสำหรับการปฏิบัติงานของพนักงานที่ต้องการลากของหนักๆ  ก็มีการพัฒนารถยก Pallet Truck  แบบติดตั้งมอเตอร์ช่วยผ่อนแรงโดยมีแบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงานทำให้สามารถยกและลากของหนักได้ถึง 3 ตัน
                2. รถยกระดับสูง  (High  Lift Trucks) รถยกแบบนี้เป็นเครื่องทุ่นแรงซึ่งนอกจะใช้เคลื่อนที่ของหนักไปตามพื้นที่ราบแล้ว  ยังใช้ยกของขึ้นวางบนหอที่อยู่สูงได้ นับเป็นเครื่องทุ่นแรงที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บสินค้า  และวัตถุดิบในโกดังให้เป็นระเบียบเรียบร้อย  และประหยัดพื้นที่ได้อย่างสูงมาก  ด้วยเครื่องทุ่นแรงนี้สินค้าหรือวัตถุดิบจะวางบนกระบะไม้  รถจะยกช้อนทั้งกระบะไปวางบนหิ้งหรือถ้าสินค้ามีภาชนะบรรจุที่รับน้ำหนักได้  เช่น  เป็นถัง ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีหิ้งแต่จะใช้วิธีช้อนกระบะขึ้นไปก็ได้
                รถยกระดับสูงนี้มีผู้ผลิตสร้างขึ้นมาหลายรูปแบบ  เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของลูกค้าโดยพยายามให้ตัวรถมีขนาดเล็ก  มีความคล่องตัวในการหมุนกลับตัว  เพื่อจะไปแทรกตัวเข้าไปในช่องทางเดินระหว่างชั้นเก็บของได้สะดวก  ทำให้ไม่ต้องเผื่อที่กว้างนักจะได้จัดโกดังได้ประสิทธิภาพ  นอกจากนี้ยังมีการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานอีกด้วย  จึงได้เกิดรถยกระดับสูงหลายรูปแบบซึ่งจะขอยกตัวอย่าง 3 รูปแบบในที่นี้
 2.1  รถยกแบบเดินตาม (Pedestrain stacker)  เป็นรถยกระดับสูงที่กินเนื้อที่น้อยที่สุด  สามารถมุดเข้าไปในตู้คอนเทนเนอร์ (Container) ซึ่งกระบะของรถบรรทุกหรือเข้าไปในตู้รถไฟได้  รถชนิดนี้ผู้ปฏิบัติงานเคลื่อนไหวได้อิสระจะยืนที่ตำแหน่งใดรอบตัวรถก็ได้  ทำให้มองเห็นทัศนียภาพได้ชัดเจน  มีมอเตอร์ช่วยผ่อนแรงในการยกน้ำหนักและการเคลื่อนที่  ในขณะที่รถแล่นอาจจะปล่อยที่วางเท้าลงแล้วผู้ปฏิบัติงานยืนบนที่วางเท้าทำให้สบายขึ้น  ระบบความปลอดภัยก็ได้จัดให้มีที่ป้องกันเท้าไม่ให้สอดเข้าไปทุกล้อ  เพื่อป้องกันล้อทับเท้าได้  นอกจากนี้ยังมีระบบเบรกและคันโยกบังคับ  ที่มีปุ่มบังคับต่างๆอยู่พร้อม  ทำให้ปฏิบัติงานได้สะดวก  จุดศูนย์ถ่วงได้รับการออกแบบให้อยู่ภายในตัวรถทำให้ปลอดภัยไม่คว่ำขณะยกของขึ้นสูง  รถชนิดนี้จึงเหมาะกับงานที่มีการเคลื่อนที่ไม่ไกลและยกน้ำหนักไม่มากนัก  โดยปกติแล้วผู้ผลิตจะออกแบบให้สามารถยกน้ำหนักได้ประมาณ 1.2 ตัน  ยกได้สูงที่สุดประมาณ 5 เมตร ในขณะที่เคลื่อนที่อาจจะอยู่เหนือพื้นดินประมาณ 145 มิลลิเมตร  เพื่อไม่ให้ขูดถูกพื้น  และความเร็วในการเคลื่อนที่ประมาณ
6-8 กม./ชม
                2.2  รถยกแบบยืน (stand on stacker)  เ นื่องจากโกดังบางแห่งมีการกองสินค้าหรือวัตถุดิบไว้สูงมาก  โรงงานบางแห่งก็มีโรงซ่อมบำรุงซึ่งมักมีกองวัสดุเหลือใช้ค่อนข้างไม่เป็นระเบียบ  อาจเกิดอันตรายได้ง่าย  จึงมีการออกแบบรถยกแบบยืน  ที่ให้ผู้ปฏิบัติงานยืนอยู่ในเสา 4 เสาที่แข็งแรงป้องกันอันตรายจากของหล่นทับลงมาบนศีรษะเขาได้  ถ้ามีอะไรมากระแทกก็จะกระแทกถูกเสาก่อน  เป็นการรับรองความปลอดภัยให้ผู้ปฏิบัติงาน  การบังคับให้รถหยุดก็สามารถบังคับได้ทั้งจากเท้าเหยียบหรือโยกคันโยกด้วยมือ  ซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถยืนอยู่บนเท้าทั้งสองได้ไม่ต้องยืนเท้าเดียวซึ่งอาจไม่ถนัด
                รถยกแบบนี้จึงเหมาะสมกับงานที่ต้องการความปลอดภัยและต้องมีการยกขึ้นลงบ่อยๆมีการเคลื่อนที่ไม่ไกลนัก
                2.3  รถยกแบบนั่ง (Rider seated stacker)
ในกรณีที่ต้องมีการเคลื่อนย้ายไประยะไกลขึ้นหรือต้องการทำงานติดต่อกันตลอดทั้งวัน  จำเป็นต้องอำนวยความสะดวกแก่ผู้ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น  คือ  ทำที่นั่งให้ภายในตัวรถ  ซึ่งจะทำให้กินเนื้อที่มากกว่าแบบยืนเล็กน้อย  รถชนิดนี้จะแปลกสักหน่อยที่ผู้ปฏิบัติงานจะนั่งหันข้างให้กับการเคลื่อนที่  ทั้งนี้ต้องออกแบบให้กะทัดรันที่สุด  รถประเภทนี้มีอุปกรณ์ต่างๆ  เหมือนกับรถขับ  มีคันเร่ง  มีเบรกที่บังคับด้วยเท้า  ความเร็วในขณะเคลื่อนที่ประมาณ 8-12 กม./ชม.  ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับการป้องกันด้วยเสารอบด้าน  และหลังคาด้านบน
                รถยกแบบนั่งอีกแบบหนึ่งที่นิยมใช้กันมากในเมืองไทย  คือรถ Fork lift  ซึ่งผู้ปฏิบัติงานนั่งหันหน้าไปในทิศทางการเคลื่อนที่ของรถ  โดยมีงายก 2 งายกอยู่ด้านหน้ารถ  ซึ่งยกขึ้นลงได้สูงและรถขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล, เบนซิน, หรือมอเตอร์ไฟฟ้าตามแต่จะเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงาน  อย่างไรก็ตามรถแบบนี้จะกินเนื้อที่ยาวกว่าแบบที่กล่าวข้างต้น  เวลาเลี้ยวจะต้องตีวงกว้างขึ้น  แต่ก็สะดวกในการขับระยะทางไกลระหว่างโกดังต่างๆ  เพราะผู้ปฏิบัติงานไม่ต้องบิดคอตลอดเวลา  และห้องคนขับก็กว้างขวางกว่าด้วย  น้ำหนักตัวรถพร้อมเครื่องมีมาก  ทำให้ถ่วงน้ำหนักเป็นผลให้ยกน้ำหนักได้มากขึ้น
                นอกจากรถยกแบบต่างๆที่กล่าวข้างต้นแล้ว  ยังอาจจะมีแบบพิเศษอื่นที่ผู้ผลิตออกแบบให้เหมาะสมกับงานชนิดพิเศษต่างๆ  ดังนั้นหากท่านจะเลือกใช้ต้องสำรวจความต้องการและสภาพในโรงงานของท่าน  แล้วเลือกดูจากผู้ผลิตรายต่างๆว่าแบบใดตรงกับความต้องการของท่าน  ท่านต้องเลือกทั้งลักษณะการใช้งาน,น้ำหนักที่จะยก, ความสูงที่ต้องการยก, ขนาดความกว้าง, วงเลี้ยว, การขับเคลื่อนวัสดุที่ใช้ในชิ้นส่วนต่างๆ  สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมได้หรือไม่, ฯลฯ  รถยกประเภทต่างๆ  ในเมืองไทยมีทั้งที่ผลิตในประเทศและที่ส่งเข้าจากต่างประเทศ  ซึ่งย่อมมีข้อดีข้อเสียบางประการแตกต่างกัน  จึงขึ้นอยู่กับรายละเอียดที่ท่านต้องพิจารณาเลือกให้เหมาะสมกับงานของท่าน


จากรูป  เมื่อเปรียบเทียบจะได้ตามตาราง
รายการเปรียบเทียบรถโฟล์คลิฟท์
รายการเปรียบเทียบ
Counterbalance
1 Deep Reach Truck
2 Deep Reach Truck
VNA
ความกว้างเลนรถวิ่ง (เมตร)
4.5
3.2
3.4
1.8
ความสูงของรถที่สามารถยกได้ (เมตร)
4.5
11.5
11.5
16.5
% การใช้ปริมาตรคลังสินค้า
30
50-55
70
90
ราคารถ (ล้านบาท)
.70
1.5
1.8
4.3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น